อุดมพันธุ์การเกษตร

"หนอนเจาะขั้ว"

ในระยะที่มีฝนตก เตือนเกษตรกรชาวสวนลำไยเฝ้าสังเกตการเข้าทำลายของหนอนเจาะขั้วผล สามารถพบได้ในระยะที่ต้นลำไยเริ่มติดผลอ่อน โดยจะพบหนอนเข้าทำลายลำไยที่เริ่มติดผลอายุประมาณ 1 เดือนจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลลำไยมีขนาดเล็ก น้ำหนักช่อน้อย ช่อผลลำไยชูขึ้น ผีเสื้อตัวเต็มวัยจะวางไข่อยู่ส่วนปลายของผลลำไย หากหนอนฟักออกจากไข่ก็จะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในผล และไม่สามารถเห็นรอยทำลายของหนอนจากการมองดูภายนอกได้ เมื่อผ่าผลลำไยดูจึงจะเห็นรอยที่ถูกหนอนเข้าทำลาย ผลที่ถูกทำลายจะไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลจึงร่วงหล่นหมด และจะพบหนอน 1-3 ตัวต่อผล การเข้าทำลายของหนอนในระยะที่ผลลำไยเริ่มเปลี่ยนสี มีขนาดผลโตขึ้น น้ำหนักผลเพิ่มขึ้น และช่อผลโค้งลง ผีเสื้อตัวเต็มวัยจะวางไข่อยู่บริเวณใกล้ขั้วผล และจะพบหนอนหรือมูลหนอนอยู่ที่ขั้วผลเสมอ ทำให้ผลลำไยร่วงหล่นได้ง่าย ให้สังเกตดูบริเวณใกล้ขั้วผล จะพบรูเล็กๆ ที่หนอนเจาะออกมาเข้าดักแด้ภายนอก กรณีที่ผลลำไยไม่ร่วงหล่น เกษตรกรชาวสวนลำไยยังสามารถนำมาขายได้ราคาดีอยู่ เพราะดูภายนอกจะไม่เห็นรอยทำลายของหนอน
สำหรับในสวนลำไยที่พบการระบาดของหนอนเจาะขั้วผลลำไย ให้เกษตรกรเก็บรวบรวมผลลำไยที่ถูกหนอนเจาะขั้วผลเข้าทำลายที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้น และเก็บรวบรวมดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผลบนใบที่สามารถเห็นได้ชัดเจน นำไปฝังหรือเผาทิ้งทำลายนอกสวน จากนั้น หากพบการระบาดรุนแรงของหนอนเจาะขั้วผล เกษตรกรควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง

  1. สารคลอร์ไพริฟอส/ไซเพอร์เมทริน 50% / 5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

Source  สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

0

Your Cart